HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ปิดตาปักผ้า เปิดประสบการณ์ในโลกมืดของโครงการปักจิตปักใจ
by Arinya
2 ม.ค. 2563, 14:04
  1,972 views

        ทันทีที่ครูฝึกสาธิตวิธีการสนเข็มจบ เราก็เริ่มรวบรวมสมาธิแล้วใช้ประสาทที่มีบนปลายนิ้วพยายามสนเข็มให้สำเร็จ ก่อนที่จะเริ่มปักผ้าซาชิโกะตามแบบพลาสติกที่ถูกเย็บติดชิ้นผ้าเอาไว้

        คงฟังดูแปลกว่าโตขนาดนี้แล้วทำไมยังต้องมาสอนวิธีสนเข็มกันอยู่ แต่มันไม่แปลกเลยเพราะเรากำลังร่วมกิจกรรม “ปิดตาปักผ้า” ของโครงการปักจิตปักใจ  ที่ทุกขั้นตอนของการปักผ้าที่เริ่มตั้งแต่การสนเข็ม ปักผ้า หรือขมวดปมต้องปิดตาทำและใช้ประสาทที่ปลายนิ้วเท่านั้น ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างช้าๆ เพราะความไม่คุ้นเคยกับการมองไม่เห็นเข็ม ด้าย หรือผ้าที่ต้องปัก

       

        “ให้ยึดขอบ [ตะเข็บ] เป็นแนว” ปรียาวรีย์ “ตาล” มะโนจิตต์ ครูฝึกที่เป็นผู้พิการทางสายตาอธิบายเทคนิคการปักผ้าไม่ให้หลุดกรอบและเป็นเส้นตรงมากที่สุด ส่วนความสั้นยาวและสม่ำเสมอของฝีเข็มต้องอาศัยปลายนิ้วสัมผัส ปรียาวรีย์เป็นผู้พิการทางสายตาที่ได้เข้าฝึกปักผ้าซาชิโกะกับ ภวัญญา “ป้าหนู” แก้วนันตา ภายใต้โครงการปักจิตปักใจและกลายมาเป็นโค้ชฝึกคนตามองเห็นให้ลองปักผ้าในแบบ “มอง” ด้วยมือ

       ความถี่และสม่ำเสมอของฝีเข็มนั้นที่ต้องใช้ความรู้สึกที่ปลายนิ้วเพื่อสัมผัสความสั้นยาวของฝีเข็มที่เราปักลงไปช่างท้าทายเสียจนเรานึกถึงเทคนิคที่ป้าหนูมักสอนลูกศิษย์ให้มองฝีเข็มที่ “ปักลงความยาวเท่าเม็ดข้าวสาร ปักขึ้นเว้นระยะเท่าก้านไม้ขีด” ว่ามันใช้ไม่ได้เลยถ้าคุณมองไม่เห็นชิ้นงานที่กำลังปัก

       การปักผ้าสำหรับคนมองเห็นคงไม่ใช่เรื่องยากลำบากนัก แต่งานฝีมือที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่แหลมคม ความแม่นยำและฝีมือสำหรับคนพิการทางสายตาที่ใครๆ เคยคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากก็ได้รับการออกแบบการทำงานโดยป้าหนูทำให้งานฝีมือดังกล่าวเป็นไปได้ และยังทำให้เราที่มองเห็นได้ทดสอบการทำงานแบบไม่ใช้สายตาในวันนี้

       วันดี สันติวุฒิเมธี หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการปักจิตปักใจต้องการให้เวอร์คช้อปที่จัดขึ้นในกรุงเทพเมื่อปลายเดือนก่อนเป็นสื่อให้คนที่มองเห็นได้ความรู้สึกของคนตาบอดที่ทำงานปักผ้าซาชิโกะเพื่อเอามาทำกระเป๋าให้เราได้ใช้กัน เพราะคนที่มองเห็นต่อให้ฝีมือมีน้อย แต่ถ้าเรามองเห็นเข็มและเส้นด้าย รับรองว่าฝีเข้มน่าจะสม่ำเสมอ และเดินเส้นเป็นเส้นตรงไม่มีตกขอบอย่างแน่นอน แต่การปิดตาปักผ้านั้นต้องอาศัยทักษะที่ไม่ใช่สายตา

        เธอต้องการให้คนทั่วไปเข้าใจความรู้สึกของคนตาบอดว่าเขาใช้ประสาทสัมผัสอะไรบ้างในการปักผ้าและเขาต้องผ่านการฝึกฝนมากมายเพียงใดกว่าจะปักผ้าได้สวยงาม เพราะเส้นทางของการปักผ้าในความมืดของพวกเขา คือ เส้นทางของการฝึกฝนและพยายาม       

       

       ดังนั้นความท้าทายของเวอร์คช้อปนี้คือการที่เราต้องทดลองปักผ้าในแบบที่สมาชิกโครงการปักจิตปักใจทำนั่นคือการปิดตาปักผ้า แล้วใช้มือควาน อุปกรณ์ทุกอย่างบนโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นเข็ม ที่สนเข็ม (ที่ป้าหนูเป็นคนออกแบบให้กับผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ) กรรไกร กล่องด้าย และผ้า (อุปกรณ์เช่น ที่สนเข็ม กรรไกร และกล่องด้ายจะติดกระดิ่งไว้เพื่อให้ง่ายต่อการหา) และระวังไม่ทำร้ายตัวเองขณะปักผ้า

        มันคงจริงอย่างที่วันดีบอกว่า “การได้สัมผัสเวลาปิดตา คือ ใจที่จดจ่อและมีสมาธิอยู่ที่มือเพื่อระวังไม่ให้เข็มทิ่มตำ และควบคุมฝีเข็มให้เป็นเส้นตรงสวยงาม”

         เราเปิดตาขึ้นครั้งแรกหลังจากที่สนเข็มแล้วปักไปอย่างช้าๆ ได้แค่สี่ฝีเข็ม สี่ฝีเข็มแรกมีขนาดใกล้เคียงกัน เรียงเป็นเส้นตรง เว้นระยะสม่ำเสมอแบบที่ตาลให้ผ่านและบอกให้ลองทำต่อ หลังจากที่นั่งปิดตาปักผ้าไปครึ่งชั่วโมง เรายังโชคดีไม่เอาเข็มจิ้มนิ้วตัวเองและค้นพบว่าการปิดตาปักผ้ามันไม่ได้ยากเย็นนัก

        เราค้นพบว่าความมืดช่วยให้สมาธิเราจดจ่ออยู่ที่งานตรงหน้ามากกว่าในยามปกติ เพราะไม่มีอะไรชวนให้เราวอกแวกได้มากนัก (ยกเว้นเสียงสนทนาจากคนรอบข้างที่มีผลน้อยมาก) ถึงแม้ว่าความมืดจะทำให้เราปักผ้าไปได้อย่างช้าๆ และฝีเข็มอาจจะไม่สม่ำเสมอเป็นเส้นตรงมากนัก แต่การที่สมาธิเราจดจ่อไปที่การลงฝีเข็มที่ขอบผ้าเพื่อไม่ให้หลุดกรอบตามที่ตาลแนะนำ และเมื่อเวลาผ่านไปอีกสักครู่เรากลับค้นพบว่าเรามีสมาธิกับการปักผ้าจนเราลืมสนใจเรื่องต่างๆ รอบตัวหรือความกังวลที่วนเวียนอยู่ในหัวเราก่อนหน้านี้อย่างไม่รู้ตัว

        เพื่อนคนหนึ่งที่ตามเราไปร่วมเวอร์คช้อปก็เห็นว่าการปิดตาปักผ้าเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ เพราะต้องอยู่ในความมืดแล้วใช้เพียงประสาทมือสัมผัสนั้นทำให้รู้สึกสงบ “มันได้จินตนาการ ท้าทายว่าจะออกมาแบบไหน” (แต่เธอกลับทำออกมาได้ค่อนข้างตรงและสม่ำเสมอราวกับเปิดตาทำ) อีกทั้งไม่ต้องกลัวว่าจะไม่สวย เพราะแต่ละชิ้นจะไม่มีทางเหมือนกัน

        บ่ายวันนั้นเราเปิดปิดผ้าปิดตาไปหลายสิบหนคอยดูว่าปักไม่หลุดกรอบวงกลมขนาด 3 นิ้ว และใช้เวลาไปหลายชั่วโมงกับผ้าผืนขนาดเพียง 4x6 นิ้วอย่างไม่รู้ตัวจนท้องร้องหาอาหารเย็น

       

       การปักผ้าลายวงกลมถือเป็นลายที่ยากระดับหนึ่ง เพราะต้องเดินเส้นเป็นวิถีโค้งเป็นวงกลม และต้องปักวงเล็กลงซ้อนกันไปเรื่อยๆ จนถึงจุดกึ่งกลาง

        ชิ้นงานที่เราปักชวนให้เรานึกถึงประโยคที่วันดีบอกเล่าถึงการปิดตาปักผ้าว่า “เมื่อทุกคนเปิดตาออกมามองดูผ้าปักในความมืดของตนเองก็จะพบเรื่องราวบางอย่างซ่อนอยู่บนผืนผ้า” เพราะมันเป็นตัวแทนของความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าว เพราะมือสมัครเล่นอย่างเราก็สร้างเมล็ดข้าวสารได้ยาวเท่าข้าวสารญี่ปุ่นบ้าง ข้าวหอมมะลิบ้าง หรือบางทีก็ยาวไปนิดแค่เท่าเม็ดข้าวบาสมาติ

         ผ่านไปหนึ่งบ่ายเราก็ได้ผลงานปักผ้าซาชิโกะชิ้นแรกในชีวิต มันอาจจะสวยสู้งานของผู้พิการทางสายตาที่วางขายในเว็บปักจิตปักใจไม่ได้สักชิ้น แต่เราก็ภูมิใจที่จะมีกระเป๋าผ้าประดับมีชิ้นงานศิลปะสวยระดับชิ้นเดียวในโลกและไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้แน่นอน

............

        หากคุณอยากมีประสบการณ์ทำกิจกรรมในความมืด เราขอแนะนำ Dine in the Dark ประสบการณ์การใช้ชีวิตหนึ่งมื้ออาหารในความมืดที่คุณต้องอาศัย "ตา" ของคนตาบอดมานำทางของคุณไปยังโต๊ะอาหาร แนะนำอาหารที่คุณกำลังจะรับประทาน และพาคุณเดินออกจากร้าน เราเชื่อว่ามื้ออาหารไม่กี่ชั่วโมงในความมืดจะผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่เป็นประสบการณ์ที่คุณมองอาหารและมารยาทบนโต๊ะอาหารเปลี่ยนไป

ABOUT THE AUTHOR
Arinya

Arinya

คนที่ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวในบ้านตัวเองทุกวัน

ALL POSTS