HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
“ฟาร์มแม่นยำ” เทคโนโลยีใหม่ผู้ช่วยเกษตรกร
by L. Patt
8 ต.ค. 2561, 13:22
  1,491 views

ดีแทคจับมือสตาร์ทอัพออกแอป Farmer Info พยากรณ์ฝนฟ้าอากาศ “เป็นรายแปลง” แม่นยำที่สุดในประเทศไทย

        การทำการเกษตรในยุคไทยแลนด์ 4.0 เห็นเค้าว่าจะไปได้สวย โดยเฉพาะกับเกษตรกรรายย่อยที่ยังไม่มีทุนรอนมากนัก ถ้าเป็นเกษตรกรรายใหญ่ก็คงไม่มีปัญหาในการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอลด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่รายย่อยยังต้องเผชิญกับสาระพัดปัจจัยเสี่ยงต่อทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงความท้าทาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

        นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ อุกฤษ อุณหเลขกะ หนุ่มปริญญาโทด้านวิศวกรรมและการบริหารวัย 29 ปี จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) บอสตัน มุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการเพาะปลูก โดยก่อตั้งบริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ด้วยความตั้งใจจะให้เป็นตัวกลางในการเชื่อมการเกษตรเข้าสู่โลกอนาคต ปฏิรูปการทำการเกษตรให้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่เคย

        หลังจากใช้เวลาในการพัฒนาร่วมกันมาหนึ่งปี ดีแทค ร่วมกับริคัลท์ ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท และบริษัทรักบ้านเกิด ก็ได้เปิดตัวบริการฟาร์มตัวอย่าง ที่สวนทุเรียนลุงแกละ จังหวัดระยอง เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นบริการให้ข้อมูลปัจจัยเพาะปลูกทางการเกษตรเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการ ทั้งพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ ติดตามสุขภาพพืช และข้อมูลวางแผนเพาะปลูกพืช

          อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เล่าว่า ดีแทค ได้ร่วมกับ บริษัทรักบ้านเกิด พัฒนาแอปพลิเคชัน Farmer Info เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ให้อัพเดทกันสดใหม่ทุกวัน เช่น ราคารับซื้อ (ข้าว ปศุสัตว์ ผลไม้ ผัก) ราคาตลาดสด (ตลาดไท ตลาด อ.ต.ก. ตลาดเยาวราช ตลาดบางกะปิ ตลาดสัตว์น้ำบางบอน) เกษตรกรต้นแบบ ข่าวเกษตร เรื่องเด่นเกษตร คลิปเกษตร และช้อปออนไลน์

         ไฮไลต์คือ ฟาร์มแม่นยำ ฟังก์ชั่นล่าสุดในแอปที่ถือเป็นก้าวแรกของดีแทคในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกัน ตามแนวทาง Creating Shared Value (CSV)

         อุกฤษ หรือ เอิร์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) บอกว่า เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาน้ำฝนเพื่อการเพาะปลูก แต่ไม่สามารถคาดเดาปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ได้ ซ้ำยังเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในแต่ละปีด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย "เราอยู่ในยุคของบิ๊กดาต้าที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก รีคัลท์ จึงใช้ภาพถ่ายดาวเทียม และระบบแมชชีนเลิร์มนิ่ง มาประมวลผลข้อมูลการพยากรณ์อากาศที่มีมากมายมาย แล้ววิเคราะห์ข้อมูลทั้งสภาพอากาศและสุขภาพพืช เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำมาใช้ในการจัดการและวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

ฟาร์มแม่นยำ นำเสนอ 3 ฟีเจอร์สำคัญ

          ฟีเจอร์พยากรณ์อากาศ จะแสดงผลเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ที่ต้องการรายชั่วโมง ทั้งอุณหภูมิ โอกาสในการเกิดฝน และปริมาณฝนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สามารถพยากรณ์อากาศได้ล่วงหน้า 7 วัน โดยมีความแม่นยำระดับ “รายแปลง” มากที่สุดในประเทศไทย เพราะใช้ข้อมูลแบบ microclimate weather ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศจากสถานีฐานทั่วโลก ฟีเจอร์ภาพถ่ายดาวเทียม ช่วยให้เกษตรกรมองเห็นพื้นที่เพาะปลูกของตัวเองแบบภาพรวมจากอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อช่วยหาความผิดปกติและปัญหาสุขภาพของพืชได้ ช่วยให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาพืชได้ทันท่วงที

         นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ผู้ช่วยส่วนตัว เพื่อให้ช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกในแต่ละรอบ โดยให้คำแนะนำตั้งแต่ก่อนการเพาะปลูกไปจนกระทั่งการเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว (กรณีที่เกษตรกรมีโรงเก็บผลผลิตการเก็บเกี่ยว) โดยนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย หรือจะกดปุ่นเพื่อฟังเสียงก็ได้ รวมไปถึงระบบการแจ้งเตือน เช่น วันนี้ใส่ปุ๋ยหรือยัง เอิร์น บอกว่า นอกจากทุเรียน ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย รีคัลท์กำลังพัฒนาอินโฟกราฟฟิคสำหรับพืชชนิดอื่น เช่น มะม่วง มะพร้าว ลำใย ยางพารา และข้าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ โดยรีคัลท์ ร่วมกับ อาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้องค์ความรู้และข้อมูลเชิงวิชาการที่ถูกต้อง  

ทุเรียน 60ไร่ ใช้ 3 คนก็เอาอยู่

         นิธิภัทร์ ทองอ่อน เกษตรกรวัย 28 ปี ทายาทรุ่นที่สองแห่งสวนทุเรียนลุงแกละ จังหวัดระยอง ยอมรับว่า กว่าจะโน้มน้าวให้พ่อยอมเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ต้องใช้เวลาเป็นปี จนในที่สุด สวนลุงแกละ ก็เป็นต้นแบบของฟาร์มแม่นยำ นิธิภัทร์ หรือ โอ๋ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับมาทำสวนหลังจากจบสาขาการจัดการคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และไปเป็นพนักงานบริษัทได้เพียงแค่ 5 เดือน เพราะไม่ชอบวิถีชีวิตที่เร่งรีบวุ่นวาย ที่สำคัญ โอ๋ชอบปลูกต้นไม้ และได้ชีวิตอิสระกลับคืนมา

          โอ๋เล่าว่าเริ่มสมัครใช้บริการฟาร์มแม่นยำเมื่อสองเดือนที่แล้ว ซึ่งตอบโจทย์ได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณฝนจะมีผลกระทบต่อการปลูกทุเรียน โดยเฉพาะการเพาะปลูกทุเรียนนอกฤดูกาล การพยากรณ์อากาศและปริมาณฝนที่แม่นยำเฉพาะเจาะจงเป็นรายแปลงเช่นนี้ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการใส่ปุ๋ย การให้ฮอร์โมน การป้องกันความเสียหายจากการเกิดฝนตกหนัก หรือพายุลมแรง รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดีขึ้น

          ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมจะทำให้ชาวสวนชาวไร่สามารถติดตามสุขภาพพืชได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องลงไปตรวจสอบพื้นที่สวนเอง หากแสดงผลเป็นสีแดงในพื้นที่ใด ก็จะเป็นสัญญาณเตือนว่าเกษตรกรจะต้องลงไปตรวจสอบในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งอาจเกิดจากโรคแมลง หรือขาดสารอาหาร ทำให้เกษตรกรแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ปัจจุบัน สวนทุเรียนลุงแกละมีเนื้อที่ทั้งหมด 60 ไร่ โดยร้อยละ 90 เป็นการปลูกทุเรียน มีทั้งหมอนทอง ชะนี พวงมณี ก้านยาว กระดุม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ สวนลุงแกละยังเริ่มพัฒนาสายพันธุ์พื้นเมืองด้วย เช่น กบสุวรรณ และกบชายไม้

           สามารถดาวน์โหลดแอป Farmer Info ผ่าน App Store และ Google Play และสมัครใช้บริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ฟรี 60 วัน หลังจากนั้นเก็บค่าบริการเริ่มต้น 30 บาทต่อเดือน

 

STORY BY  L. Patt

 

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS