HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
ขจัดไขมันอย่างไรไม่เสี่ยง
by L. Patt
8 เม.ย. 2561, 04:04
  1,151 views

หาข้อมูลกันก่อนจะพาตัวไปเสี่ยงกับการดูดไขมัน

        ใครๆ ก็อยากมีส่วนสัดฟิตเป๊ะกันทั้งนั้นแหละ แต่ออกกำลังกายเท่าไหร่ก็ไม่พอเลยต้องหาตัวช่วย ถ้าคิดจะไปทำ คุณรู้ข้อมูลดีหรือยังว่าสลายไขมันแบบไหนถึงจะปลอดภัยได้ผลดี ไม่ถูกหลอก ไม่เจ็บตัว หรือเสียเงินฟรี

        ทุกวันนี้ ปัญหาไขมันส่วนเกินเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจกันมาก ไม่เฉพาะแต่คนที่มีรูปร่างอ้วนเท่านั้น คนผอมก็มีความผิดปกติของไขมันส่วนเกินเฉพาะจุดได้เช่นเดียวกัน โดยตำแหน่งที่พบบ่อย เช่น หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา เป็นต้น ไม่ว่าจะควบคุมอาหาร หรือเข้าฟิตเนสเป็นประจำก็ยังไม่สามารถกำจัดไขมันส่วนเกินบางจุดไปได้ สุดท้ายก็ต้องหันไปพึ่งบริการเสริมความงามทั้งที่โรงพยาบาล และคลินิก

        วันนี้ เรามีข้อแนะนำจาก พญ.จันทร์จิรา สวัสดิพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เพื่อให้รู้ว่า ปัจจุบันมีวิทยาการสมัยใหม่ในการสลายไขมันอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการกำจัดสัดส่วนไขมันส่วนเกินโดยไม่ต้องผ่าตัดเหมือนเมื่อก่อน

        กระนั้นก็ตาม พญ. จันจิรา ชี้ว่า สถานเสริมความงามที่ให้บริการกำจัดไขมันมีมากมายทั้งรายเล็กรายใหญ่ อีกทั้งเครื่องไม้เครื่องมือก็มีหลากหลายจนเลือกไม่ถูก ซึ่งทางสมาคมฯ ไม่สามารถบอกได้ว่า ที่ไหนมีมาตรฐานความปลอดภัยแค่ไหนอย่างไร มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจไปใช้บริการ อย่าใจร้อนและต้องการเห็นผลอย่างรวดเร็ว ควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นอย่างน้อย 2-3 คน รวมถึงการหาข้อมูลความเห็นจากผู้ที่เคยไปใช้บริการมาแล้ว

        วิธีดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายคือ การดูดไขมัน (Liposuction) โดยการเจาะเข้าไปให้ถึงชั้นไขมันแล้วดูดออกมา แม้จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงแต่มีค่าใช้จ่ายสูง และพบว่า เกิดอาการบวม ฟกช้ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เป็นแผล ทำให้เกิดเป็นก้อนไม่สม่ำเสมอ ทำให้ต้องใช้เวลาในการดูแลฟื้นฟูหลังการรักษาเป็นเวลานาน บางทีไปทำลายเส้นเลือดบริเวณใกล้เคียง และเสี่ยงเกิดภาวะไขมันหรือลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามสำหรับคนที่มีภาวะเลือดไหลง่าย มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เป็นโรคหัวใจ หรือคนที่แพ้ยา

สลายไขมันแบบสมัยใหม่

พญ.จันทร์จิรา อธิบายว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการลดไขมันเฉพาะส่วนอย่างได้ผลดีและมีความปลอดภัย มีด้วยกัน 4 วิธีคือ

1. การลดไขมันโดยใช้ความเย็น (Cryolipolysis) โดยพบว่าเซลล์ไขมันเป็นเซลล์ที่มีความไวกับความเย็นได้มากกว่าเซลล์ผิวหนังส่วนอื่นๆ ทำให้เซลล์ไขมันถูกทำลายหลังจากรักษาเพียง 1-2 ครั้ง โดยการรักษาจะเริ่มเห็นผลได้ดีในช่วง 4-12 สัปดาห์ หลังการรักษา

ผลข้างเคียงจากการรักษา มักจะมีอาการแดงซึ่งจะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์ บวมและกดเจ็บบริเวณที่ทำ หรือมีอาการชา ซึ่งมักจะหายภายใน 1 เดือน

2. การลดไขมันโดยใช้คลื่นวิทยุ (Radiofrequency) เพื่อทำให้เกิดความร้อนในบริเวณชั้นไขมัน ซึ่งถ้านานเพียงพอจะทำให้เซลล์ไขมันถูกทำลาย การรักษาชนิดนี้มักต้องทำซ้ำหลายครั้ง (ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้) จึงจะเห็นผลได้ดีในการลดไขมัน

ผลข้างเคียงจากการรักษา ได้แก่ อาการแดง และ เจ็บ (มักหายภายใน 60 นาที) มีอาการบวม ฟกช้ำ ร้อนมากขณะทำการรักษา และอาจทำให้ผิวหนังไหม้หากผู้รักษาไม่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือมากพอ

3. การลดไขมันโดยใช้อัลตราซาวด์ (High-intensity Focused Ultrasound: HIFU) ซึ่งอัลตราซาวด์จะทำให้มีการสั่นของเนื้อเยื่อเป้าหมายอย่างรวดเร็วและเกิดความร้อน ซึ่งจะทำลายไขมันตามมา การรักษาชนิดนี้มักทำ 1-2 ครั้งก็สามารถเห็นผลได้ดี

ผลข้างเคียงจากการรักษา ได้แก่ ปวดหรือเจ็บระหว่างและหลังการรักษา ฟกช้ำ กดเจ็บ บวม แดง และแสบร้อนบริเวณที่ทำ

 4. การลดไขมันโดยใช้เลเซอร์ (Low-level laser therapy) เป็นการใช้เลเซอร์เพื่อทำให้เซลล์ไขมันมีขนาดเล็กลง ต้องทำหลายครั้งจึงจะเห็นผล

วิธีนี้จะพบผลข้างเคียงจากการักษาได้น้อย อาจมีอาการแดง บวมบริเวณที่ทำ หรือเจ็บระหว่างการรักษา

        เทคโนโลยีทั้ง 4 ชนิดนี้ สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยการวางยาสลบ เครื่องมือบางชนิดทำได้โดยไม่ต้องอาศัยยาชา บางชนิดอาศัยเพียงการทายาชาเฉพาะที่ผิวหนังเพื่อทำให้รู้สึกสบายมากขึ้นในขณะทำการรักษา หลังการรักษาไม่ต้องพักฟื้นนาน ส่วนมากสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติหลังทำการรักษา

        ส่วนการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การฉีดสารเข้าใต้ผิวหนัง (Mesotherapy) พบว่า ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจนของยาที่นำมาฉีด ทั้งในประเทศไทยหรือในหลายๆ ประเทศทั่วโลก สารต่างๆ เหล่านี้ ยังไม่ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาเพื่อนำมาใช้ฉีดลดไขมันเฉพาะส่วน ดังนั้น การนำยามาใช้ผิดประเภทอาจก่อให้เกิดเสียตามมาได้ อีกทั้งยังมีกรณีศึกษาในต่างประเทศพบว่า การฉีดสารดังกล่าวก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียในตำแหน่งที่ฉีด หรือกรณีที่สารมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ก็อาจทำให้มีอาการบวม มีรอยแตกลายของผิวหนังตามมาได้

        อย่างไรก็ตาม พญ.จันทร์จิรา ย้ำว่า ทุกวิธีไม่ใช่เป็นการลดน้ำหนักแต่เป็นตัวเสริมในการดูแลสัดส่วนอย่างปลอดภัย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แม้ว่า จะยังไม่มีกรณีศึกษาถึงผลกระทบร้ายแรงจากการขจัดไขมันส่วนเกินในประเทศไทย แต่สถานบริการที่เปิดกันดาดดื่นพร้อมโฆษณาโปรโมชั่นกันอย่างเข้มข้น ก็อาจทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนไปใช้บริการได้

 

ABOUT THE AUTHOR
L. Patt

L. Patt

ALL POSTS