HAPPENING BKK
NLINE MAGAZINE
×
เยือน "บรูจ" เวนิสแห่งยุโรปตอนเหนือ
by Zillah
18 ม.ค. 2561, 17:32
  4,054 views

Bruges, Belgium - เมื่อพูดถึงเมืองแห่งคลองเล็กๆ คดเคี้ยวไปในเมือง นักท่องเที่ยวหลายคนมักเปรียบเทียบกรุงเทพมหานครเป็นเวนิสตะวันออก เพราะความคล้ายคลึงกับเมืองเวนิส ประเทศอิตาลีที่มีคลองมากมายและผู้คนยังคงสัญจรทางน้ำอยู่ แต่ยังมีอีกเวนิสหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้จัก คือ บรูจ ประเทศเบลเยี่ยมที่ถูกเรียกว่า เวนิสแห่งยุโรปตอนเหนือ

Venice of the North

บรูจ หรือ Bruges ในภาษาอังกฤษหรือ Brugge ในภาษาแฟลมิชได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองเวนิสทางเหนือ เนื่องมาจากผังเมืองที่ใช้ลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมหลักตั้งแต่สมัยยุคกลาง และเมืองเล็กๆ แห่งนี้ก็เคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปตอนเหนือ เหมือนกับเวนิสซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายของยุโรปตอนใต้ในช่วงศตวรรษที่ 13 แม้ว่าบรูจจะมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับเมืองหลักในยุโรปในสมัยก่อน แต่เมืองเล็กๆ แห่งนี้ถือเป็นเมืองที่ทันสมัยที่สุดเมืองหนึ่งของยุโรป จะเป็นรองก็แต่เมืองใหญ่ๆ ในอิตาลีเท่านั้น

นั่งรถม้าชมเมืองเก่า

 

ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของเมืองนี้ คือช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 13 บรูจเคยมีประชากรถึง 45,000 คนที่อาศัยอยู่ในเมืองชั้นในที่มีขนาดประมาณ 4.3 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีคนอาศัยอยู่เพียงแค่ประมาณ 20,000 คน จำนวนประชากรก็ไม่มากไม่น้อย ถ้าให้คนกรุงเทพจินตนาการก็คงต้องเทียบเคียงกับจำนวนนักช้อปที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ กลางกรุงในวันเสาร์อาทิตย์นั่นเอง

ภาษา ที่มาของความขัดแย้ง

“คุณพูดภาษาฝรั่งเศส แฟลมิช หรืออังกฤษ” มักจะเป็นคำถามแรกที่คุณมักจะถูกถามเมื่อเดินเข้าร้านค้า หรือจะเริ่มบทสนทนากับคนแปลกหน้าในเบลเยี่ยม เพราะประเทศนี้มีภาษาทางราชการมากกว่าหนึ่งภาษา เบลเยี่ยมเป็นประเทศเล็กๆ ในยุโรปแต่กลับมีความซับซ้อนในหลายเรื่อง อย่างแรกคือ ภาษา ที่นี่ใช้ภาษาราชการ 3 ภาษา คือ แฟลมิชใช้ทางตอนเหนือของประเทศ ฝรั่งเศสใช้ทางตอนใต้ และ ภาษาเยอรมันจะมีพูดกันในชุมชนกลุ่มเล็กๆ ทางตอนใต้ เนื่องจากบรูจเป็นเมืองหลักเมืองหนึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเบลเยี่ยม ภาษาราชการที่ใช้คือ ภาษาแฟลมิช (คล้ายๆกับภาษาดัชต์ของฮอลแลนด์)

โรงเตี๊ยมเก่าแก่ที่สุดของเมือง

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภาษาทั้งสามมีความสำคัญเท่าเทียมกัน บางครั้งก็จะเกิดความสับสนในหมู่นักท่องเที่ยวที่ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน เช่น ป้ายบอกทางในเขตภาษาแฟลมิชก็จะมีแต่ภาษาแฟลมิช ส่วนในเขตภาษาอื่นก็เป็นภาษาของตนเอง หรือเวลาเดินทางโดยรถไฟ หากรถไฟวิ่งอยู่ในเขตภาษาแฟลมิช เจ้าหน้าที่จะประกาศเป็นภาษาแฟลมิช หากรถไฟขบวนนั้นวิ่งผ่านเขตภาษาฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ก็จะประกาศเป็นภาษาฝรั่งเศส หากรถไฟอยู่ในเขตเมืองหลวงบรัสเซลส์ เจ้าหน้าที่จะต้องประกาศเป็นภาษาแฟลมิชและฝรั่งเศสเนื่องจากบรัสเซลส์เป็นเขตสองภาษา ส่วนเจ้าหน้าที่จะประกาศภาษาไหนก่อนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นเป็นคนภาษาไหน และบางครั้งเจ้าหน้าที่จะเลือกภาษาไหนก่อนก็ขึ้นอยู่กับว่ารถไฟวิ่งไปทางไหน ถ้ารถไฟวิ่งไปทางเขตภาษาฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ก็อาจจะเลือกพูดภาษาฝรั่งเศสก่อนแล้วตามด้วยภาษาแฟลมิช งงดีไหม เพราะฉะนั้นถ้านั่งรถไฟในเบลเยี่ยมต้องมีสมาธิดีมากๆ ไม่อย่างนั้นอาจจะลงผิดสถานีก็เป็นได้ ภาษาเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ แต่จะทำอย่างไรถ้าประเทศมีสามภาษา ความขัดแย้งเรื่องภาษามีมาตั้งแต่ประเทศเบลเยี่ยมก่อตั้งเป็นประเทศในปี 1830 จนมาถึงปัจจุบัน ในสมัยปลายศตวรรษที่ 13 ตอนเหนือของเบลเยี่ยมปัจจุบัน รวมทั้งบรูจ ตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝรั่งเศส กษัตริย์ฝรั่งเศสส่งกองกำลังทหารมาปกครองบรูจและรอบๆ คนร่ำรวยในเมืองต่างยอมอ่อนข้อให้กับทหารฝรั่งเศสเนื่องจากตนได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่ชาวบ้านธรรมดาต้องรับกรรมเพราะผลผลิตที่ตัวเองทำได้ต้องส่งส่วยไปให้ฝรั่งเศส และถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆ นานา

กวีดังของบรูจ เทียบได้กับสุนทรภู่ของเรา

 

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงสำคัญในประวัติศาสตร์ว่า ความเป็นชาตินิยม หรือ nationalism ได้ก่อตัวขึ้นในบรูจ ส่งผลให้เกิดขบวนการใต้ดินที่ก่อตั้งกองกำลังอาสาสมัครเพื่อที่จะต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส หากจะต่อสู้ในที่แจ้ง ชาวบ้านเหล่านี้ก็สู้ทหารฝรั่งเศสไม่ได้แน่ ก็ต้องทำในที่ลับด้วยการกำจัดทหารฝรั่งเศสทีละคน แล้วชาวบ้านรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนฝรั่งเศสถ้าเขาไม่ใส่ชุดทหาร เทคนิคก็คือรหัสลับที่ต้องพูดเวลาที่เดินสวนกับคนแปลกหน้า ชาวบ้านก็จะพูดรหัสลับ ‘Schild en vriend’  แปลว่า ‘shield and friend’  และอีกฝ่ายที่เป็นพวกเดียวกันจะต้องตอบกลับด้วยคำเดียวกัน หากใครพูดคำนี้ไม่ได้ก็หมายความว่าเป็นคนฝรั่งเศส และแน่นอนว่าก็จะต้องถูกสำเร็จโทษด้วยการเชือดคอทันที เราคนไทยอาจจะสงสัยว่าคำสองคำนี้ก็ไม่น่าจะพูดยากเย็นอะไร แต่ถ้าใครมีเพื่อนเป็นคนภาษาฝรั่งเศส ลองให้เพื่อนออกเสียงคำสองคำนี้ดู แล้วจะรู้ว่าคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่แทบจะไม่มีใครที่ออกเสียงควบกล้ำ sch หรือ vr ได้เลย ว่ากันว่ารหัสลับนี้ทำให้มีคนตายเพราะออกเสียงคำนี้ไม่ได้เกือบสองพันคนทีเดียว ชายชาวเมืองบรูจสองคนคือ Jan Breydel และ Pieter de Coninck ที่เป็นผู้นำกองกำลังอาสาสมัครชาวบ้านในครั้งนั้นก็กลายเป็นรัฐบุรุษสำหรับชาวเมืองบรูจมาจนทุกวันนี้ ถึงกับมีการสร้างอนุสาวรีย์บนจตุรัสกลางเมืองในปี 1887

ฟู้ดทรัค สไตล์เมืองบรูจ

 

ในปัจจุบันไม่มีการเชือดคอคนต่างชาติตามถนนอีกแล้ว บรูจกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยบ้านเรือนที่สร้างมาตั้งแต่สมัย 700-800 ปีก่อนและเจ้าของบ้านที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเนืองแน่นทุกวัน เมืองเก่าบรูจได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกในปี 2000 เนื่องจากบ้านเรือนที่สร้างจากยุคกลางยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุด ถึงแม้จะถูกทหารเยอรมันยึดครองในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้งบ้านเรือนก็ไม่ได้ถูกระเบิดทำลายเหมือนเมืองใหญ่ๆ ในยุโรป บรูจจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศเบลเยี่ยมที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา เพราะฉะนั้นเมื่อเข้ามาในเมืองนี้เราจะรู้สึกเหมือนเดินทางย้อนยุคไปในสมัยที่คนยังนั่งรถม้าอยู่ นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งที่มาเที่ยวบรูจมาก็เพราะบรูจเป็นเมืองเงียบๆ โบราณๆ ปลอดภัยไร้อันตราย อีกส่วนก็ชื่นชอบสถาปัตยกรรมในเมืองที่หลากหลายตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 12 จนมาถึงต้นศตวรรษที่ 20 และตอนหน้าเราจะพาคุณย้อนกลับไปยังศตวรรษที่ 13 ในวันที่เมืองบรูจได้สร้างสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 20 นั่นก็คือ “ตลาดหลักทรัพย์”

ABOUT THE AUTHOR
Zillah

Zillah

Passionate, Curious, Quirky. Speaks English, Dutch and Thai

ALL POSTS